การทำงานแบบบูรณาการ คือ หัวใจของความสำเร็จ
การทำงานแบบบูรณาการ คือ หัวใจของความสำเร็จ
โครงการนี้เป็นโครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพ อบจ., รพ.สต. ถ่ายโอนและหน่วยงานสังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดต้นแบบข้างต้นสามารถบูรณาการความร่วมมือกันในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. และจะดำเนินการวิเคราะห์และถอดบทเรียนกระบวนการเรียนรู้ของพื้นที่จังหวัดต้นแบบเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่พื้นที่จังหวัดอื่นที่รับถ่ายโอนรพ.สต. ต่อไป
การถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. เป็นกิจกรรมสำคัญตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ด้านการถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งรัฐบาลประกาศกำหนดตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2555 วันที่ 27 มิถุนายน 2555 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่แผนปฏิบัติการ ฯ (ฉบับที่ 2) กำหนดไว้ไปพลางก่อนจนกว่ารัฐบาลจะประกาศใช้แผนปฏิบัติการ ฯ (ฉบับที่ 3) โดยมีสาระสำคัญในหน้า 44-45 กำหนดให้ส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการภายหลังการถ่ายโอน และหากปรากฏว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ ส่วนราชการนั้นต้องนำปัญหานั้นมาทบทวนและเติมเต็มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาทางเทคนิควิชาการ และดำเนินงานให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภารกิจที่ถ่ายโอนตามความเหมาะสม
แนวทางปฏิบัตินี้สอดคล้องกับสาระสำคัญของประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง กลไกและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมและพัฒนาให้ รพ.สต. มีความสามารถเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ที่ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดให้มียุทธศาสตร์และแผนในการส่งเสริมและพัฒนาให้ รพ.สต. ทุกแห่งมีความสามารถเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมทั้งขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการทรัพยากรร่วมกันของ รพ.สต. และหน่วยบริการอื่นในพื้นที่ รวมทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งในด้านความรอบรู้ บุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาปัจจัยที่สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค