การประชุมสัมมนาระดับชาติส่งคืนข้อมูลและถ่ายทอดความรู้ให้แก่พื้นที่
การประชุมสัมมนาระดับชาติส่งคืนข้อมูลและถ่ายทอดความรู้ให้แก่พื้นที่
การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งระบบสาธารณสุขและระบบการบริหารราชการแผ่นดิน สำหรับผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขนั้น ร้อยละ 69.80 ของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (Contracting Unit for Primary Care) ทั้งหมดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มี รพ.สต. ที่ถ่ายโอนให้แก่ อบจ. หมายความว่า มากกว่ากึ่งหนึ่งของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิของ สปสช. มีหน่วยบริการประจำแม่ข่ายและหน่วยบริการปฐมภูมิอยู่ภายใต้ต่างสังกัดซึ่งภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบบริการสุขภาพในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง การบริการทันตกรรม และการบริการสุขภาพเชิงรุก
สำหรับนัยยะต่อการบริหารราชการแผ่นดิน พบว่า ในหลายจังหวัด หน่วยบริการประจำที่เป็นแม่ข่ายในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถทำงานเชื่อมประสานเป็นเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพกับ รพ.สต.สังกัด อบจ. ทำให้ระบบบริการสุขภาพ “ไร้รอยต่อ” และมีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการยกระดับการบริการสุขภาพปฐมภูมิ นอกจากนี้ ยังพบ “กระบวนการเรียนรู้ (Learning Process)” ของบุคลากรในพื้นที่ทั้งบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรสังกัด อบจ. ในการทำงาน “ข้ามสังกัด” หรือ “ข้ามไซโล” โดยมุ่งเน้นไปที่เครือข่ายแนวราบ (Horizontal Network) กล่าวคือ เป็นการทำงานเชิงเครือข่ายข้ามสังกัด (ส่วนภูมิภาค-ส่วนท้องถิ่น) เพื่อบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ประสบปัญหาความขาดแคลนเรื้อรังให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยยึดหลักว่า “หน่วยการให้บริการ (Unit of Care)” คือ ประชาชนและการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชนทุกคนมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Doctor) ดูแลนั้นสามารถร่วมกันออกแบบให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่
ปาฐกถาพิเศษ "การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ" โดย รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและกรรมาธิการสาธารณสุขในสภาผู้แทนราษฎร ชัดที่ 26
การประชุมสัมมนาทางวิชาการส่งคืนข้อมูลและถ่ายทอดความรู้ให้แก่พื้นที่ “สร้างต้นแบบด้วยเครือข่าย: สู่ก้าวย่างที่มั่นคงของระบบสุขภาพปฐมภูมิถ่ายโอนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด” ในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งคืนข้อมูลให้แก่พื้นที่ และถ่ายทอดประสบการณ์การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบบูรณาการของ อบจ. และหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใน 11 จังหวัดที่เป็นกรณีศึกษาใน “โครงการศึกษาวิจัยรูปแบบการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ดีขึ้น” ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สนับสนุนงบประมาณให้แก่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) การประชุมสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ของนักวิจัยพี่เลี้ยง (Coach) และนักวิจัยในพื้นที่ (Policy Entrepreneur) ในพื้นที่ 11 จังหวัด กิจกรรมฝึกอบรมและสาธิตรูปแบบการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบบูรณาการในด้านต่าง ๆ เช่น การทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การบริหารเครือข่ายบริการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องแบบบูรณาการ (Continuity of Care: COC) การจัดบริการทันตกรรมปฐมภูมิ เทคนิคการบูรณาการตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Data Dashboard เพื่อประสานและประมวลผลข้อมูลด้านสุขภาพที่ชัดเจนและสะดวกสำหรับผู้บริหาร เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาสาระทั้งหมดมาจากการศึกษาวิจัย การทดลองนำแนวคิดการจัดการเครือข่าย (Network Management) ไปขับเคลื่อนในการใช้งานจริงในพื้นที่กรณีศึกษา และการติดตามประเมินผลเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation) ของนักวิจัยในโครงการ
"กล่าวต้อนรับ" โดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
"การนำเสนอผลการศึกษาวิจัย" โดย รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา หัวหน้าโครงการ
นอกจากนี้ ในงานประชุมดังกล่าว ยังได้มอบโล่รางวัลให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ต้นแบบ 11 จังหวัดที่มีประสิทธิภาพในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิในด้านต่าง ๆ ได้แก่
องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ จ.ระยอง ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบูรณาการภารกิจ รพ.สต. ถ่ายโอนทั้งจังหวัด
องค์กาารบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบูรณาการภารกิจ รพ.สต. ถ่ายโอนทั้งจังหวัด
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรางวัลต้นแบบการยกระดับการบริการสุขภาพปฐมภุมิจากผลงานการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยบริการประจำ (CUP) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 10 แห่ง
พื้นที่ที่ได้รับรางวัลพื้นที่ต้นแบบระดับอำเภอด้านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ (1) อุบลราชธานี (พื้นที่ อ.เหล่าเสือโก้ก) (2) ปัตตานี (พื้นที่ อ.ยะรัง) (3) สกลนคร (พื้นที่ อ.เมืองสกลนคร) (4) น่าน (พื้นที่ อ.เมืองน่าน)
พื้นที่ที่ได้รับรางวัลความมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในการบูรณาการภารกิจ รพ.สต. ถ่ายโอน ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ (1) ลำปาง (พื้นที่ อ.แม่ทะ) (2) สุโขทัย (พื้นที่ อ.บ้านด่านลานหอย) (3) กำแพงเพชร (พื้นที่ อ.เมืองกำแพงเพชร)
พื้นที่ที่มีผลงานด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ เพชรบูรณ์ (พื้นที่ อ.เมืองเพชรบูรณ์)
พิธีมอบโล่รางวัลให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ต้นแบบ 11 จังหวัดที่มีประสิทธิภาพในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิในด้านต่าง ๆ โดย รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและกรรมาธิการสาธารณสุขในสภาผู้แทนราษฎร ชัดที่ 26 และ รศ.ดร. สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดาวน์โหลดสรุปผลการประชุม (คลิ้กที่ Download)
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยายของวิทยากร (คลิ้กที่ Download)