หลักการและเหตุผลโครงการ

การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งระบบสาธารณสุขและระบบการบริหารรัฐกิจของประเทศไทย สำหรับผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขนั้น ร้อยละ 69.80 ของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (Contracting Unit for Primary Care) ทั้งหมดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมี รพ.สต. ที่ถ่ายโอนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หมายความว่า มากกว่ากึ่งหนึ่งของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิมีหน่วยบริการประจำแม่ข่ายและหน่วยบริการปฐมภูมิอยู่ภายใต้ต่างสังกัดซึ่งภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี พ.ศ. 2565 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การบริการทันตกรรม และการบริการสุขภาพเชิงรุก 

ระบบบริการสุขภาพ “ไร้รอยต่อ” 

สำหรับนัยยะต่อระบบการบริหารรัฐกิจ พบว่า ในหลายจังหวัด หน่วยบริการประจำที่เป็นแม่ข่ายในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถทำงานเชื่อมประสานเป็นเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพกับ รพ.สต.สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำให้ระบบบริการสุขภาพ “ไร้รอยต่อ” และมีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการยกระดับการบริการสุขภาพปฐมภูมิ 


กระบวนการเรียนรู้ของบุคลากรในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังพบ “กระบวนการเรียนรู้ (Learning Process)” ของบุคลากรในพื้นที่ทั้งบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการทำงาน “ข้ามสังกัด” หรือ “ข้ามไซโล” เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยมุ่งเน้นไปที่เครือข่ายแนวราบ (Horizontal Network) กล่าวคือ เป็นการทำงานเชิงเครือข่ายข้ามสังกัด (ราชการบริหารส่วนกลาง- ส่วนภูมิภาค-ส่วนท้องถิ่น) เพื่อบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ประสบปัญหาความขาดแคลนเรื้อรัง  โดยยึดหลักว่า “หน่วยการให้บริการ (Unit of Care)” คือ ประชาชนและการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชนทุกคนมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลนั้นสามารถร่วมกันออกแบบให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ 

การศึกษาวิจัยนี้เป็นการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ที่อยู่อย่างหลากหลายใน 49 จังหวัดที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบกับการถ่ายโอนยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดโดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการถ่ายโอน รพ.สต. เพิ่มเติม 931 แห่งให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงมีคำถามนำการวิจัยว่า “จะออกแบบกลไกภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิดีขึ้น” ซึ่งควรทดลองนำร่องแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลแม่ข่ายสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและ รพ.สต. ถ่ายโอนด้วยแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแบบเครือข่าย (Network Governance) ตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 250 วรรคสาม, แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งรัฐบาลประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ตลอดจนแนวทางที่ปรากฏในประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง กลไกลและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมและพัฒนาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีความสามารถเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 และใช้ระบบประเมินผลก่อน-หลังการทดลองนำร่องด้วยการประเมิน ผลเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation: DE) เพื่อวิเคราะห์และถอดบทเรียนตามทฤษฎีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change: TOC) ให้ได้แนวทางปฏิบัติที่พร้อมขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดต่อไป